หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555



การเลี้ยงไก่พื้นบ้านเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ความนิยมของไก่พื้นบ้านนั้นแยกออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ การบริโภคเนื้อไก่บ้าน การเลี้ยงในลักษณะไก่สวยงาม และการเลี้ยงไว้เพื่อกีฬาชนไก่ local-chickens-2โดยลักษณะเด่นของไก่พื้นบ้านคือการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทำให้ธุรกิจไก่พื้นบ้านเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสดใสและเป็นธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม
จากสถิติของกรมปศุสัตว์จำนวนไก่พื้นเมืองในประเทศ ณ วันที่ 1 มกราคม 2545 เท่ากับ 57.76 ล้านตัว โดยมีจำนวนฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองกระจายอยู่ทั่วประเทศ 6,785 ฟาร์ม แยกเป็นฟาร์มขนาดเล็ก(จำนวนไก่พื้นเมืองต่ำกว่า 1,000 ตัว)ร้อยละ 87.5 ฟาร์มขนาดกลาง(จำนวนไก่พื้นเมือง 1,001-2,000 ตัว) ร้อยละ 4.4 ฟาร์มขนาดใหญ่(จำนวนไก่พื้นเมืองมากกว่า 2,000 ตัว) ร้อยละ 8.1 โดยการเลี้ยงไก่พื้นเมืองมีการกระจายตัวในแต่ละภาคดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 43.5 ภาคเหนือร้อยละ 34.0 ภาคกลางร้อยละ 12.8 และภาคใต้ร้อยละ 9.8 ในจำนวนไก่พื้นบ้านทั้งหมดนั้นนอกจากส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงเพื่อป้อนตลาดในลักษณะเนื้อไก่และไข่ไก่แล้ว ไก่อูหรือไก่ชนนั้นก็เป็นไก่พื้นบ้านอีกประเภทหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงเพิ่มขึ้น
local-chickens-3
สถิติการส่งออกไก่ชนจากกรมปศุสัตว์ในปี 2545 เท่ากับ 5,666 ตัว มูลค่า 3,089,900 บาท เมื่อเทียบกับในปี 2544 แล้วปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 62.0 ทั้งนี้เนื่องจากราคาส่งออกไก่ชนเฉลี่ยในปี 2545 ลดลงเหลือเพียงตัวละ 545 บาท ในขณะที่ราคาเฉลี่ยในปี 2544 สูงถึงตัวละ 1,475 บาท โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียนั้นราคาเฉลี่ยตัวต่อนั้นลดลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการนำเข้าในลักษณะเป็นลูกไก่ชนมากกว่าการนำเข้าไก่ที่โตแล้ว โดยจำนวนฟาร์มเลี้ยงไก่ชนในอินโดนีเซียนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาสถิติการส่งออกไก่ชนในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการส่งออกไก่ชนมีแนวโน้มค่อนข้างดี
local-chickens-4


ตลาดส่งออกไก่ชนของไทยที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ อินโดนีเซียโดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 71.8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือมาเลเซีย คูเวต และบาร์เรน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศที่มีการนำเข้าไก่ชนจากไทยอย่างสม่ำเสมอ คือ อินโดนีเซีย บรูไน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่จะเป็นตลาดที่มีความสำคัญสำหรับการส่งออกไก่ชนของไทยต่อไปคือ ตลาดประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะคูเวต สหรัฐ-อาหรับอิมิเรต และบาร์เรน ส่วนตลาดในเอเชียที่น่าจับตามอง คือ มาเลเซีย จีน และญี่ปุ่น

local-chickens-5
อย่างไรก็ตามการส่งออกไก่ชนมีชีวิตนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจไก่พื้นบ้านเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกเนื้อไก่บ้าน ซึ่งในช่วงที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเนื้อแน่น และเป็นไก่ที่เลี้ยงโดยธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรวบรวมสถิติแยกไว้ระหว่างไก่เนื้อและไก่พื้นบ้าน ทั้งปริมาณการบริโภคในประเทศ และการส่งออก ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการตลาดของธุรกิจไก่พื้นบ้านอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
local-chickens
แม้ว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกจะทำให้ธุรกิจการเลี้ยงไก่พื้นบ้านซบเซาลงไปบ้าง เนื่องจากผู้เลี้ยงไก่พื้นบ้านบางส่วนอยู่ในข่ายที่ต้องทำลายไก่ที่เลี้ยงไว้ตามเงื่อนไขของการป้องกันการแพร่ระบาด และมีการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก รวมทั้งการห้ามมีการเปิดบ่อนไก่ชนและยังมีผลกระทบต่อการส่งออกไก่พื้นบ้านทั้งในลักษณะไก่มีชีวิตและการส่งออกในลักษณะเนื้อไก่บ้าน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกสิ้นสุดลงแล้ว คาดว่าอนาคตของธุรกิจการเลี้ยงไก่พื้นบ้านจะสามารถพลิกกลับมาเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสได้เช่นเดิม
ที่มา : www.scb.co.th


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น